เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [2. ปาริวาสิกขันธกะ] 4. มานัตตจาริกวัตตะ
รัตติเฉท
ว่าด้วยเหตุให้ขาดราตรี 4 อย่าง
[92] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “รัตติเฉทของภิกษุผู้ประพฤติมานัตมีเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี รัตติเฉทของภิกษุผู้ประพฤติมานัตมี 4 อย่าง
คือ

1. สหวาสะ (การอยู่ร่วมกัน)
2. วิปปวาสะ (การอยู่ปราศ)
3. อนาโรจนา (การไม่บอก)
4. อูเนคเณจรณะ (การประพฤติมานัตในคณะสงฆ์อันพร่อง)

อุบาลี รัตติเฉทของภิกษุผู้ประพฤติมานัติมี 4 อย่างนี้แล

ทรงอนุญาตให้เก็บมานัต
[93] สมัยนั้น ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันจำนวนมากในกรุงสาวัตถี ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ประพฤติมานัตไม่สามารถจะทำมานัตให้บริสุทธิ์ได้ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บมานัต”

วิธีเก็บมานัต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเก็บมานัตอย่างนี้ ภิกษุผู้ประพฤติมานัตพึงเข้าไปหา
ภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเก็บมานัต” มานัตย่อมเป็นอันเก็บ หรือกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเก็บวัตร” มานัต
ย่อมเป็นอันเก็บ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :185 }


พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [2. ปาริวาสิกขันธกะ] 5. อัพภานารหวัตตะ
ทรงอนุญาตให้สมาทานมานัต
[94] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางออกจากกรุงสาวัตถีไปในที่ต่าง ๆ ภิกษุ
ทั้งหลายผู้ประพฤติมานัตสามารถทำมานัตให้บริสุทธิ์ได้ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมาทานมานัต”

วิธีสมาทานมานัต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสมาทานมานัตอย่างนี้ ภิกษุผู้ประพฤติมานัตพึงเข้าไป
หาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าสมาทานมานัต” มานัตย่อมเป็นอันสมาทาน หรือกล่าวว่า “ข้าพเจ้าสมาทาน
วัตร” มานัตย่อมเป็นอันสมาทาน
มานัตตจาริกวัตตะ จบ

5. อัพภานารหวัตตะ
ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน
[95] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ควรแก่อัพภานยินดีการที่ปกตัตตภิกษุทั้งหลาย
กราบไหว้ลุกรับ ฯลฯ การถูหลังให้ในคราวอาบน้ำ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุผู้ควรแก่อัพภานยินดีการที่ปกตัตตภิกษุทั้งหลายกราบไหว้ ลุกรับ ฯลฯ
การถูหลังให้ในคราวอาบน้ำเล่า” แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :186 }